รายงานคอนเสิร์ตสังคีตภิรมย์ ครั้งที่ ๔ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สังคีตภิรมย์ ครั้งที่ ๔
เมื่อกวาดสายตามองโปสเตอร์การแสดงคอนเสิร์ตที่ติดโฆษณาอวดโฉมบนบอร์ดประชาสัมพันธ์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีอยู่หลายงานหลากสีสันชวนมอง แต่ต้องหยุดอ่านรายละเอียดและข้อความบนโปสเตอร์แผ่นหนึ่ง ที่มีรูปลักษณ์การออกแบบแปลกไปกว่าโปสเตอร์แผ่นอื่นๆ ชวนให้สงสัยและน่าติดตาม
รูปหน้ากลองทัดใบใหญ่มีอักขระขอมเป็นยันต์ ๘ ทิศจารอยู่บนหน้ากลอง และมีเลข ๔ ไทยเขียนด้วยสีแดงเลือดหมู ลากลายเส้นหางยาวอยู่ตรงกลางอย่างเด่นชัด ใต้ภาพกลองทัดเป็นชื่อคอนเสิร์ตในการแสดงครั้งนี้ คือ สังคีตภิรมย์ เนื้อหาทั้งหมดปรากฏอยู่บนพื้นหลังโทนสีดำสนิท คอนเสิร์ตนี้เป็นการแสดงของแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก
การเดินทางของคอนเสิร์ตแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก เป็นการแสดงของนักเรียนและนักศึกษาในแขนงวิชาฯ จัดขึ้นทุกภาคการศึกษาๆ ละ ๑ ครั้ง ตั้งแต่ช่วงแรกที่ปรากฏชื่อคอนเสิร์ตว่า เสียงไทยใจสะอาด และในระยะเวลาต่อมาก็ร่วมด้วยช่วยกันทางความคิดระหว่างนักเรียน นักศึกษา และคณาจารย์ เปลี่ยนชื่อคอนเสิร์ตมาโดยตลอด เพื่อความไม่ซ้ำซากจำเจและเพื่อให้เข้ากับ เรื่องราว ของรูปแบบการแสดงและการบรรเลงในแต่ละครั้ง อาทิ Thai Life Style Your Life Your Culture และ Rebirth of Thai จนมาถึงการแสดงครั้งล่าสุดที่ผ่านมา คือ สังคีตภิรมย์ ๔ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้คนที่เข้าชมการแสดงในครั้งนี้ดูหนาตาเป็นพิเศษ คงไม่ใช้ฝีมือการเนรมิตของเทวดาองค์ใดหรือบารมีของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่เป็นมิตรไมตรี ผลของการชักชวนกันมาให้กำลังใจของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีต่อบุตรหลานของตนบนเวที
รายการแสดงแรกเปิดฉากด้วยวงเครื่องสายประสมปี่พาทย์ไม้นวม (วงใหญ่) จากผู้บรรเลงกว่า ๖๐ ชีวิตในชุดสีดำ บรรเลง ๒ บทเพลง คือ โหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ๓ ชั้น และเพลงเขมรชมดง เถา เป็นการเปิดเวทีการแสดงที่ใช้ผู้บรรเลงมากที่สุด
รายการที่สอง เป็นการแสดงเดี่ยวขิมหมู่ในเพลงชุดอาหนู แปลกใหม่ด้วยการเพิ่มเติมวงดนตรีจากเครื่องดนตรีจิ๋ว มีทั้งซอด้วงจิ๋ว ระนาดเอกจิ๋ว ระนาดทุ้มจิ๋ว เครื่องเคาะ และเครื่องประกอบจังหวะชิ้นเล็กชนิดต่างๆ โดยมีนัยที่ลึกซึ้งเกี่ยวข้องกับเด็กๆ ในสังคมที่มีการสั่งสอนอบรมยัดเยียดขนบประเพณีดั้งเดิม โดยขาดการประยุกต์เพื่อให้เข้ากับเด็กและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
รายการที่สาม เปลี่ยนบรรยากาศจากวงดนตรีไทยเป็นการบรรเลงจากวงดนตรีจีน ๔ บทเพลง คือ ไฉ่หวินจุยเหย่ (เมฆงามไล่ตามจันทรา) ฮั่นเทียนเหลย (ฟ้าคะนองฤดูแล้ง) ไส้หม่า (แข่งม้า) จินเซ่อค่วงหวู่ (ระบำงูทองคะนองฤทธิ์) สมาชิกวงดนตรีจีนวงนี้ นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาเอกปฏิบัติเครื่องดนตรีไทย แต่ด้วยความที่มีใจรักบวกกับความขยันในการฝึกซ้อมและรวมวงอยู่เสมอ จึงทำให้บทเพลงที่ถ่ายทอดออกมามีลีลาที่พลิ้วไหวและได้อรรถรส
รายการที่สี่ กลับคืนสู่บรรยากาศการบรรเลงดนตรีไทยด้วยวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ ในเพลงโหมโรงกราวนอกและเพลงพม่าห้าท่อน ๓ ชั้น ทางของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ชมที่ไม่เคยได้สัมผัสรสชาติของวงปี่พาทย์แบบถึงใจ ทั้งแนวการบรรเลงที่ ไหว พอเหมาะ อีกทั้งเทคนิคการบรรเลงที่โชว์ฝีมือของผู้บรรเลง และชั้นเชิงการร้อยเรียงตัวโน้ตแต่ละตัวออกมาเป็นกลอนเพลงอย่างน่าฟังของครูผู้ปรับวง
รายการที่ห้า ปิดท้ายการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ด้วยการบรรเลงของวงโปงลางมหิดลบันเทิงศิลป์ ในชุด สืบฮอยตา วาฮอยปู่ เชิดชูโปงลาง นำเสนอเสียงเพลงจากวงดนตรีพื้นบ้านอีสานในอีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยและคาดไม่ถึง คนส่วนใหญ่มักมองภาพลักษณ์ของวงโปงลางที่มีแต่ความสนุกสนาน ความมันส์ และความเร้าใจเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วรูปแบบการนำเสนอของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานยังมีอีกหลายลักษณะ การแสดงครั้งนี้จัดบรรยากาศให้เป็นแบบพื้นบ้านที่สบายๆ คล้ายการชุมนุมเพื่อเล่นดนตรีของผู้คนในหมู่บ้านแถบชนบท และมีคู่หนุ่มสาวนั่งเกี้ยวและฟ้อนกันอยู่กลางวงดนตรี วงโปงลางมหิดลบันเทิงศิลป์บรรเลง ๕ บทเพลงติดต่อกัน คือ ผู้ไทยใหญ่ กาเต้นก้อน ลำเพลิน สุริวงศ์ชมดง นกไส่บินข้ามทุ่ง และเต้ยลา
เสียงปรบมือที่ดังขึ้นทุกครั้งหลังสิ้นเสียงโน้ตตัวสุดท้ายของทุกบทเพลง ย่อมทำให้ผู้แสดง ครูผู้ฝึกซ้อม และทีมงานทุกคนต่างหัวใจพองโต แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การเรียนรู้ ประสบการณ์ และความซื่อสัตย์ต่องานที่ทุกคนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งจะติดตัวนักเรียนและนักศึกษาออกไปสู่โลกดนตรีภายนอกอย่างเข้มแข็ง
คอนเสิร์ตของแขนงวิชาดนตรีไทยฯ ที่จะจัดขึ้นครั้งต่อไป บริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแสดง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อคอนเสิร์ต เรื่องราวของการแสดง รูปแบบการบรรเลง ฯลฯ จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางใด โปรดติดตามชมคอนเสิร์ตครั้งต่อไปนะครับ
ภาพเพิ่มเติม
สร้างสรรค์มากๆครับ
ไพเราะๆ
ชอบมากๆ
เครื่องจิ๋วเพราะดี
ขอบคุณที่นำมาเล่าสู่กันฟัง
ทำให้นึกภาพออก ตั้งแต่ต้นจนจบ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าชม
เพราะมาก
เล่นกันได้ดี
มีความคิดดี สนุก
รักษาคุณภาพดีๆ เช่นนี้ไว้ เติมความสามารถให้สูงยิ่งขึ้น
หวังว่าครั้งต่อๆ ไปจะมี Theme ใหม่ๆ ที่น่าสนใจแตกต่างไปเรื่อยๆ
ช่วยกันสร้างสรรค์ดนตรีไทยให้มีค่ามากกว่าไม้ประดับ
(ลบคำค่อนขอดที่ผู้อาวุโสเคยกล่าวเอาไว้)
ชื่อ สังคีตภิรมย์
เหมือนชื่อวง โรงเรียนผมเลย
…………..
!!!